อาจารย์นิติศาสตร์ มช. โวยสงสัยยื่นรางวัลโนเบล เหตุขอตำแหน่ง ‘ศ.’ ตั้งแต่ปี’58 ยังไม่ได้
อาจารย์นิติศาสตร์ มช. โวยสงสัยยื่นรางวัลโนเบล เหตุขอตำแหน่ง ‘ศ.’ ตั้งแต่ปี’58 ยังไม่ได้
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มช. สงสัยยื่นรับโนเบล เหตุขอตำแหน่ง ‘ศ.’ ตั้งแต่ปี’58 ป่านนี้ยังไม่ได้
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเพจเฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง ได้เผยแพร่ข้อความของ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังมีผู้สอบถามความคืบหน้าการขอตำแหน่งศาสตราจารย์ ระบุว่า ขอเรียนให้ทราบว่าหลังจากผ่านไปมากกว่า 7 ปี บัดนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนของการถามมาและตอบไป (รอบที่เท่าไหร่ก็ไม่แน่ใจ) ระหว่าง World Class University กับกระทรวงที่มุ่งมั่นจะไปเหยียบดวงจันทร์ ไม่แน่ใจว่าตอนนั้นยื่นไปขอรางวัลโนเบลหรือตำแหน่งศาสตราจารย์กันแน่ ชักสับสนเหมือนกัน
นอกจากนี้ ยังได้มีการโพสต์หนังสือแจ้งความคืบหน้าของทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงคณบดีคณะนิติศาสตร์ มีใจความสรุปว่า มหาวิทยาลัยได้โทรศัพท์สอบถามด้วยวาจา พร้อมมีหนังสือถึงปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เพื่อขอทราบความคืบหน้าและติดตามการพิจารณาเรื่องแต่งตั้ง รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล สังกัดคณะนิติศาสตร์ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ได้รับแจ้งจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ด้วยวาจาว่าอยู่ระหว่างพิจารณาและตรวจสอบกลั่นกรองเอกสารประกอบการพิจารณา และจะดำเนินการเสนอคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับตำแหน่งทางวิชาการ ของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ได้เขียนหนังสือถึง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง การขอตำแหน่งศาสตราจารย์ที่ยาวนานที่สุดในประเทศไทย มีเนื้อหาบางส่วนว่ามาจนถึงเวลานี้เท่าที่ได้รับรู้และมีการบอกเล่ากันมา ผมก็ค่อนข้างมั่นใจว่ากระบวนการขอตำแหน่งศาสตราจารย์ของผมนั้นใช้เวลานานมากกว่าใครๆ โดยผมยื่นขอตำแหน่งดังกล่าวไปเมื่อเดือนตุลาคม 2558 และตราบจนกระทั่งปัจจุบัน (ธันวาคม 2565) กระบวนการดังกล่าวก็ยังไม่เสร็จสิ้นลงแต่อย่างใด
เข้าใจว่าอยู่ระหว่างการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ซึ่งผมก็สงสัยว่างานทั้งหมดได้ผ่านการประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิครบถ้วนมาแล้วมิใช่หรือ) ในระหว่างทางของการขอตำแหน่งมีประเด็นที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาหลายด้าน ทั้งในแง่ของปัญหาระบบความรู้ การบริหารงาน ความเหมาะสมของผู้ทรงคุณวุฒิ ความมีประสิทธิภาพและความใส่ใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง หากจะต้องอภิปรายกันอย่างจริงจังแล้ว ผมสามารถใช้เวลาพูดได้เป็นวันๆ อย่างแน่นอน
หลายคนอาจนึกว่าหลังจากขอตำแหน่งศาสตราจารย์แล้ว ผมไม่ได้ทำงานอะไรอีก มัวแต่มาทวงถามความคืบหน้า ผมอยากเรียนให้ทราบว่าภายในระยะเวลา 7 ปี จาก พ.ศ.2558 ผมได้ทุนวิจัยจาก สกว. 3 เรื่อง, สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 2 เรื่อง, สถาบันพระปกเกล้า 1 เรื่อง, งานวิจัย 3 ชิ้นได้รับรางวัลจากสภาวิจัยแห่งชาติ (รวมถึงที่เพิ่งประกาศผลของปีนี้, ตีพิมพ์หนังสือ 2 เล่ม, ดูแลวิทยานิพนธ์ประมาณ 10 เล่ม ซึ่งได้รับรางวัลและทุนทั้งจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เป็นต้น ไม่ต้องกล่าวถึงงานสอนอันเป็นภาระหน้าที่พื้นฐานเท่านี้ก็น่าจะพอยืนยันได้ว่าผมไม่ได้มีสภาพเป็น dead wood ซึ่งควรได้รับการเอาใจใส่จากหน่วยงานอย่างเท่าเทียมกับบุคลากรคนอื่นๆ มิใช่หรือ
แต่ที่กล่าวมาก็อาจไม่เป็นธรรมต่ออธิการบดีในปัจจุบัน เพราะเรื่องแทบทั้งหมดเกิดขึ้นในยุคสมัยของอธิการบดีคนเก่า อย่างไรก็ตาม ในฐานะของอธิการบดีก็คงปฏิเสธภาระความรับผิดชอบนี้ไปไม่ได้เช่นกัน แน่นอนว่ากระบวนการของผมจะเสร็จสิ้นลงเมื่อไหร่ก็ยังยากจะคาดเดา แต่ก็คิดว่าเป็นหัวข้อที่น่าสนใจอย่างมากกว่าคนที่ต้องใช้เวลาในการขอตำแหน่งศาสตราจารย์ที่ยาวนานที่สุดในประเทศไทย (และอาจรวมถึงในโลกนี้ด้วยก็ได้) อยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ่านข่าวการศึกษาที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : อาชีวะคว้าแชมป์แกะสลักหิมะ นานาชาติ ฮาร์บิ้น ประจำปี 2566