ความท้าทายและโอกาสของตลาดแรงงานไทยในอนาคต

ความท้าทายและโอกาสของตลาดแรงงานไทยในอนาคต : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.วรมาศ ลิมป์ธีระกุล

ในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศ ไทยได้เริ่มมีการผ่อนปรนมาตรการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดจนมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้การจ้างงานของไทยเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้นในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการค้าและการบริการ

แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงอายุ ตลอดจนความเจริญของเทคโนโลยี ได้ก่อเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานไทยหลายประการ ซึ่งวันนี้อยากจะชวนท่านผู้อ่านมาพิจารณา ถึงความท้าทายและโอกาสของตลาดแรงงานในอนาคตไปด้วยกัน

ข่าวเศรษฐศาสตร์ล่าสุด

ความท้าทายของตลาดแรงงานในอนาคต

ความท้าทายประการแรก คือ การเข้าสู่สังคมสูงอายุ ซึ่งในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ถือได้ว่าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ (Aged Society)

และจากรายงานการคาดการณ์ประชากรในประเทศไทย โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) พบว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงยอด (Super-aged Society หรือ Hyper-aged Society) คือ สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน ในอัตราส่วนเท่ากับ หรือมากกว่าร้อยละ 28 ในอีกไม่ถึง 5 ปีข้างหน้านี้ (พ.ศ. 2568)

นอกจากนี้อัตราการเกิดของประชากรในประเทศก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีเด็กเกิดใหม่เพียง 544,570 คน และอัตราการเจริญพันธุ์ต่อสตรี 1 คน ลดลงเหลือเพียง 1.33 เท่านั้น

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย ซึ่งส่งผลต่อโครงสร้างแรงงานไทยและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 2 ประการได้แก่

(1) อัตราการขยายตัวของแรงงานลดลง เนื่องจากประชากรสูงอายุเริ่มมีความเสื่อมถอยสุขภาพ กายทำให้ไม่สามารถทำงานได้ ประกอบกับอัตราการเกิดที่ลดตํ่าลงและอายุขัยของประชากรที่ยืนยาวขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมดลดลง

และ (2) ผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ลดลง โดยเฉพาะภาคการเกษตร ที่ปัจจุบันแรงงานส่วนใหญ่มีอายุเกิน 50 ปี มีระดับการศึกษาตํ่า และไม่คุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยี ส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตลดลง และการปรับตัวเข้าสู่การเกษตรยุคใหม่เป็นไปได้ยาก

ความท้าทายประการถัดมา คือ ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี ประกอบกับความจำเป็นในช่วงมี่มีการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ภาคธุรกิจได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการบริการ

จากรายงานของ World Economic Forum (2020) พบว่า บทเรียนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการหันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อทดแทนแรงงานมากขึ้น และการสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ มีอัตราช้ากว่าการสูญเสียงานอันเป็นผลมาจากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้อายุการใช้งานของทักษะต่างๆ จะเริ่มสั้นลง โดยแรงงานอาจต้องมีการเพิ่มทักษะใหม่ๆ ทุก 6 เดือน แรงงานภาคการผลิตและงานที่ใช้ทักษะพื้นฐานอาจสูญเสียตำแหน่งงานมากถึง 12.14 ล้านตำแหน่ง ในอีก 10 ปีข้างหน้า

โดยกลุ่มงานที่มีแนวโน้มจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี ได้แก่ กลุ่มงานในภาคการค้าและบริการ ภาคการเกษตร และประมง เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันส่วนมากเอื้อต่อการทำงานจากระยะไกลของแรงงานที่มีทักษะสูง ทำให้แรงงานในกลุ่มนี้ค่อนข้างได้เปรียบแรงงานกลุ่มอื่นๆ ดังนั้น อบรมแรงงานและการสร้างงานตำแน่งใหม่ทดแทน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในทุกภาคส่วน แนะนำข่าวเพิ่มเติม>>> มิสเตอร์. ดี.ไอ.วาย. ฉลองเทศกาลวันเด็ก 2566 ยกขบวนสินค้าสำหรับเด็ก พร้อมเติมเต็มความสุข จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ สานฝันเด็กไทย